เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2563 เวลา 10.30 – 14.30 น. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในประชุมหารือเชิงนโยบายด้านการอุดมศึกษา ในการนี้ รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ณ ห้องประชุม Board Room ชั้น ๓ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยกิจกรรมจะแบ่งเป็นภาคเช้าและบ่าย ในช่วงเช้า ระหว่างเวลา 10.45 – 12.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เดินชมบูธนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงบ่าย เป็นการประชุมหารือเชิงนโยบาย เยี่ยมชมอาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึง จังหวัดขอนแก่นที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศ และจังหวัดขอนแก่นเองได้ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่าย อย่างต่อเนื่อง ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เป็น Smart City เมืองน่าอยู่ของพลเมืองทุกคน
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผลงานด้านวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยังยืนแก่ภาคสังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม วิสาหกิจทุกระดับ และการส่งเสริมวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมยุค ๔.๐ จากแนวคิดดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่ได้คัดเลือกมานำเสนอในวันนี้ จำนวน 15 นิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการนวัตกรรมทางการแพทย์ (ชุดตรวจทางการแพทย์, ชุดตรวจธาราสซีเมีย) นิทรรศการนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร (ไก่KKU1+นมA2, ปุ๋ยและผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนดิน และอาหารเพื่อสุขภาพ) นิทรรศการด้าน Smart city ทิทรรศการด้่านการศึึกษา (Smart learning, โครงการคณิตศาสตร์ขั้นสูง) นิทรรศการโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข(โครงการกัญชาสำหรับใช้ในทางการแพทย์, โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง, โครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี) นิทรรศการด้าน BCG (แบตเตอรี่ ไฮเทน และไบโอพลาสติก) นิทรรศการดำเนินงานและบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์,ตลอดจนนิทรรศการพื้นที่ต้นแบบของการบูรณาจากองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแบบครบวงจร อาทิ Smart Farm โครงการแก้จน จิ้งหรีด และบ้านโต้นโมเดล นอกจากผลงานวิจัยเหล่านี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้ผลิตผลงานวิจัยอีกมายมาย ที่มุ่งหมายในการแก้ปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสร้างให้ไทยสามารถแข่งขันได้ ในระดับสากล
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ในระหว่างนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จัดสรรพื้นที่ และได้มอบหมายภารกิจไปยังมหาวิทยาลัยที่ดูแลตำบลนั้นๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อที่จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในรายตำบลนั้น
“ในโครงการจะมีการจ้างงานตำบลละ 20 คน ในระยะเวลา 1 ปี โดยเป้าหมาย คือ การพัฒนาตำบลไปสู่ความยั่งยืน ตอนนี้เราให้มหาวิทยาลัยทั้งประเทศไปหารือเพื่อที่จะจัดสรรพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งบางจังหวัดก็จะมีหลายมหาวิทยาลัยร่วมกันทำงานเป็นคณะทำงาน เรียกว่า อว.ส่วนหน้า หลังจากวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นี้ จะทราบอย่างเป็นทางการว่า อว.ส่วนหน้า ในแต่ละจังหวัดประกอบด้วยทีมใดบ้าง โดยมีหน้าที่หลักในการ นำองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ไปช่วยในการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ”
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวถึงโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)ว่า ในที่ประชุมครม. หน่วยงานในกระทรวงหลายกระทรวง อยากจะให้เราช่วยเก็บข้อมูลบางด้าน เพราะมีหลายท่านในนั้นเห็นสมรรถนะ และ ศักยภาพในโครงการของเราว่านอกจากจะทำเรื่องการพัฒนาแล้วยังสามารถเก็บข้อมูล และ เชื่อว่าเราสามารถทำระบบ big data และ วิเคราะห์ได้ดีพอสมควร ซึ่งในที่ประชุมได้สนับสนุนให้เราขยายจำนวนตำบลเพิ่มขึ้นอีก 4,900 ตำบล ซึ่งจะครบ 7900 ตำบล โดยประมาณ จากโครงการนี้จะทำให้มีผู้ที่ได้ทำงานมากกว่า 120,000 คน
“ขณะนี้มีอุทยานวิทยาศาสตร์ กระจายอยู่ในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้พิจารณามหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมเป็นแม่ข่ายและเป็นที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้รวบรวมมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม กับการปฏิบัติมาเชื่อมต่อกันได้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลเป็นอย่างดี การชมนิทรรศการความคืบหน้าในวันนี้ ดีใจที่ผลงานวิจัยหลายๆอย่างสามารถขายได้ เป็นนิมิตหมายที่ดี คิดว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นโดดเด่นในหลายๆด้าน ด้านหนึ่งที่ประทับใจมากคือด้านเกษตร และ การแพทย์ และ การนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมต่าง ๆ ที่เจริญก้าวหน้ามากมาใช้ในการทำแผนที่ IOT อย่างไรก็ตาม ทาง อว.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยต้องวิจัยด้านใด เพราะว่าแต่ละที่จะแสดงออกมาเองว่าตนเองเก่งและชำนาญโดดเด่นเรื่องอะไร แต่โดยทั่วไปความเก่งของคนไทย ของสถาบันวิจัย ของมหาวิทยาลัย จะครอบคลุมด้าน BCG เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ วิทยาการที่เกี่ยวกับชีววิทยาการแพทย์ อาหาร สาธารณสุข วิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องสำอาง รวมไปถึง การแก้ปัญหาทำอย่างไรให้คนอยู่ดีกินดีขึ้น ฉะนั้นผมคิดว่าตอนนี้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทยกำลังไล่กวดประเทศอื่น ๆ ที่เคยนำหน้าเราไป ใกล้ชิดมากขึ้น ก้าวไปสู่ภาคปฏิบัติได้มากขึ้น และรัฐบาลก็สนับสนุนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าว
ข่าว รวิพร สายแสนทอง