จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในหลายโรงพยาบาล จากสถานการณ์นี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หรือ ผลงาน DIY (Do it yourself) เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนดังกล่าว โดยฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างตู้ “ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ โดยใช้ระบบโอโซน และ UV” มอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ และช่วยทำให้การทำงานของ แพทย์ พยาบาล มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อ วันที่ 2 เมษายน 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ส่งมอบระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ โดยใช้ระบบโอโซน และ UV พัฒนาและสร้างโดย สถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มอบให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ นำทีมโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ รศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน และ ดร.วิรัตน์ เจริญบุญ พร้อมคณะจัดทำ รับมอบโดย รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยบุคลากร พร้อมกันนี้ ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ยังส่งมอบ Face Shield เพิ่มเติม ให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,500 ชิ้น
รศ.ดร. วิทยา อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงระบบการทำงานของตู้ “ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ โดยใช้ระบบโอโซน และ UV” ว่ามีการทำงาน 2 ระบบ คือระบบแรกตั้งเวลาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นนำมาทำความสะอาดในระบบที่ 2 คือการอบโอโซน และ UV ซึ่งจากการทดลองมั่นใจได้ว่าเชื้อโรคตายจริงเมื่อผ่านทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ อีกทั้งตู้นี้ยังสามารถใช้ได้กับคน เพื่อฆ่าเชื้อที่ติดอยู่ภายนอกตัวคนได้ แต่ต้องเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถใช้ได้กับคนอย่างปลอดภัย โดยลักษณะของตู้อบนั้นเป็นตู้ 2 ตู้ติดกัน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำตู้สามารถหาได้ทั่วไป และมีต้นทุนไม่แพง ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในต่างประเทศในช่วงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลนนี้ ก็มีการพัฒนาทำตู้อบนี้ขึ้นมาใช้เองเช่นเดียวกัน
ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ฝ่ายฯ มีหน้าที่สนับสนุน นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่สังคมโดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยของศูนย์ สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เราทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละสาขาวิชามาใช้แก้ปัญหาในช่วงการระบาดโควิด -19 หลายโรงพยาบาลขาดแคลนชุด PPE (PPE : Personal Protective Equipment) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักขององค์กรอนามัยโลก สำหรับชุด PPE ที่ใช้ในการคัดกรองผู้มีความเสี่ยง ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้แต่ต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานก่อน เมื่อเราทราบปัญหาและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้ขอให้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน โดยมี ศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ผศ.ดร.วิรัตน์ เจริญบุญ พร้อมคณะทำงาน พัฒนาและสร้างตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 สำหรับชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้น เพื่อนำไปมอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบโครงสร้างจุลภาคและการกันน้ำของหน้ากาก N95 หลังการใช้ UV และ Ozone ฆ่าเชื้อ เพื่อทดสอบการนำกลับมาใช้ซ้ำของหน้ากาก N95 พัฒนาตัวฉากกั้น และการเก็บตัวอย่างจากเชื้อโควิดจากคนไข้ การศึกษาแนวทางการทำหน้ากากอนามัยด้วยเส้นใยนาโน เพื่อทดแทนหน้ากาก N95 ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากบุคลากรของ Science Park ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ร่วมแรงร่วมมือกันทำ Face Shield เพื่อแจกให้กับบุคลากรและก็นำไปมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลนครพนม โรงพยาบาลชัยนาท โรงพยาบาลบ้านฝาง โรงพยาบาลสระแก้ว และ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์