เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 เวลา 22.00 น. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ นักวิจัยในโครงการ KKU Smart city พันตำรวจเอก สกล สิทธิวิชัย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ร่วมสังเกตการณ์การทำงานในการนำ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ บริเวณศาลหลักเมือง จังหวัดขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขวา)และ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ(ซ้าย)
สืบเนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น จึงร่วมมือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการใช้อากาศยานไร้คนขับ(โดรน) ปฏิบัติภารกิจในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยในโครงการKKU Smart city เปิดเผยเกี่ยวกับ ความร่วมมือครั้งนี้ว่า เดิมทีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ได้ปฏิบัติงานร่วมกันในโครงการ KKU Smart City โดยได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะด้านความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็น กล้องวงจรปิด ระบบเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับทะเบียนรถ การจดจำใบหน้าบุคคลทางกล้องวงจรปิด และ การใช้อากาศยานไร้คนขับในการตรวจตา เฝ้าระวัง ติดตามความปลอดภัยให้กับประชาชนชาวเมือง
รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยโครงการ KKU smart city ควบคุมการทำงานโดรน
“ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอนแก่น เคยมาดูงานที่ศูนย์ KKU Smart City Operational Center อุทยานวิทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนหน้านี้ และ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสนใจ 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโดรน คือ 1. การทำแผนที่เมืองเชิงอัจฉริยะ 3 มิติ ที่สามารถเห็นซอกมุม อาคาร ขนาดตึก เพื่อที่จะใช้ในการกำหนดมาตรการ หรือ แผนการดำเนินกิจการเรื่องของความปลอดภัย การอารักขา การจับกุมคนร้าย 2. การบินตรวจการณ์ เรามีความพร้อม ด้านเครื่องมือฮาร์ดแวร์ มีอากาศยานไร้คนขับ เซ็นเซอร์ หรือ กล้องจับความร้อน ที่มีความสามารถในการซูมในระยะไกล มีซอฟต์แวร์ ด้านการประมวลผลภาพจากตัวกล้อง ซึ่งเป็นหลักการที่วางแนวทางและทดลองทำในเมืองมาระดับหนึ่งแล้ว ประจวบกับตอนนี้สถานการณ์ COVID-19 ที่มีมาตรการเคอร์ฟิว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคิดว่าจะใช้โดรนตัวนี้ในการเฝ้าระวัง ซึ่ง เรายินดีให้ความร่วมมือ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกิจการนี้ เพราะเรามีทรัพยากรสนับสุนนโดยตรง วันนี้เวลา 22.00 น. จะเริ่มต้นปฏิบัติงานเป็นคืนแรก และ จะนำมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ไปตั้งที่ศาลหลักเมือง เชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดจะเป็นการป้องปราม และ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นหูเป็นตาให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาจจะบินวันเว้นวัน” รศ.ดร.รวี กล่าว
ข่าว รวิพร สายแสนทอง / ภาพ ณัฐพงษ์ ชำนาญเอื้อ