วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นประธานในพิธี นำทีม รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และ ดร.ชุตินัน ชูสาย ทีมนักวิจัย เข้าร่วมพิธี ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น บันทึกความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน (Zero Food Waste) สู่แมลงโปรตีน (Black Soldier Fly)”
“ความร่วมมือของเรามุ่งเน้นการลดปริมาณขยะอาหาร และนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)”
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดียิ่งในการให้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ในการวิจัยและการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ การเชื่อมโยงทรัพยากรและข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ข้อมูลการอนุรักษ์และการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพให้แพร่หลายสู่สาธารณชน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีสนับสนุนประสานงานและคัดเลือกเกษตรกร ตลอดจนให้คำแนะนำด้านวิชาการในการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนให้กับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ความร่วมมือนี้จะช่วยลดการทิ้งเป็นขยะอาหาร ลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ และส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ด้าน นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงหนอนโปรตีนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการบริจาคอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายภายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารของบริษัทกว่า 2,600 สาขา เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จให้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน เพื่อลดการทิ้งเป็นขยะอาหาร โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการคัดแยกและการขนส่งเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป
ขณะที่ นายธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ระบุว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อสำรวจแมลงที่มีศักยภาพที่จะนำไปต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยได้ศึกษาแมลงพื้นบ้านหลายชนิด กระทั่งพบว่า แมลง BSF มีความโดดเด่นมากที่สุด “เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยาก และต้นทุนต่ำ นับเป็นจุดเด่นที่ทำให้เข้าถึงเกษตรกรได้ง่าย” จึงร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนี้และส่งต่อถึงเกษตรกร พร้อมขยายเครือข่ายไปยังสถาบันการศึกษาอีก 11 แห่ง รวมถึงขยายเป็นหลักสูตรเพื่อผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อยอดสู่การคิดค้นนวัตกรรมและต่อยอดไปสู่อนาคตอีกด้วย การบันทึกข้อตกลงในวันนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเดินหน้าฟาร์มตัวอย่างและศูนย์การเรียนรู้ รวมถึงผลักดันนวัตกรรมสู่เกษตรกรได้อย่างแท้จริง
ในพิธีดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจาก นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) มาเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม พร้อมร่วมแสดงความยินดีต่อความร่วมมือในครั้งนี้ โดยระบุว่า ที่ผ่านมา สวก.มอบทุนสนับสนุนงานวิจัยให้แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาโดยตลอด เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของงานวิจัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะงานวิจัย แมลงโปรตีน (Black Soldier Fly) ซึ่งเป็นงานวิจัย Research Utilization (RU) ที่นำไปสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่วิจัยบนหิ้ง จึงหวังว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปได้สำเร็จและขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้สังคมไทยต่อไป