วันที่ 18, 23, 24 และ30 กันยายน 2567 ฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน ร่วมกับฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานที่เป็นนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการใช้แมลงโปรตีน BSF ขจัดขยะอินทรีย์นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ยุพา หาญบุญทรง และ ดร. ชุตินันท์ ชูสาย จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย คณบดี และผู้บริหารจากคณะ/ส่วนงานต่างๆ เข้าร่วมโครงการ Zero Food Waste มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายปฏิบัติการได้ลงพื้นที่นำร่องประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอาหารแก่ผู้ประกอบการร้านค้า นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการติดตั้งจุดรวบรวมขยะอาหาร ภายในโรงอาหารของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย 1. ศูนย์อาหารและบริการ (คอมเพล็กซ์) 2. ศูนย์อาหารและบริการ (โรงชาย) 3. ศูนย์อาหารและบริการ (หนองแวง) 4. ศูนย์อาหารและบริการ (อาคารที่จอดรถ 1 kkbs) 5. ตลาดมอดินแดง 6. โรงอาหารคณะวิทยาศาสตร์ 7. โรงอาหารคณะเทคโนโลยี 8. โรงอาหารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 9. โรงอาหารคณะทันตแพทยศาสตร์ 10. โรงอาหารคณะเภสัชศาสตร์ 11. โรงอาหารคณะศึกษาศาสตร์ 12. โรงอาหารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 13. โรงอาหารวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น 14.โรงอาหารคณะเกษตรศาสตร์ 15. โรงอาหารคณะพยาบาลศาสตร์ 16.โรงอาหารคณะสัตวแพทยศาสตร์ 17.ศูนย์อาหารอาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์ (คณะแพทย์) 18.โรงอาหารคณะแพทยศาสตร์ 19.โรงอาหารหอพักนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ 20.โรงอาหารหน้าตึกสิริคุณากร 21.โรงอาหารหอพักพยาบาล ซึ่งมีศูนย์อาหาร/โรงอาหารที่เข้าร่วมโครการฯทั้งมด จำนวน 22 โรงอาหาร (โรงอาหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ อยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุง) เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะอาหาร และแนวทางการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ปัญหาขยะทั่วโลกเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม "ขยะอาหาร" หรือ **Food Waste** เป็นปัญหาอีกประเภทที่มีผลกระทบไม่แพ้กัน ในบางประเทศ ขยะอาหารอาจมีสัดส่วนสูงถึง 50% ของขยะทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดมลภาวะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อน ยังสะท้อนถึงปัญหาทางสังคมที่ไม่สามารถจัดการอาหารส่วนเกินให้ผู้ที่ขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการสำรวจข้อมูลขยะอาหารภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าในแต่ละวันมีขยะอาหารเกิดขึ้นเฉลี่ย 661 กิโลกรัม จากโรงอาหาร 26 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมกับขยะอาหารจากหอพักนักศึกษาและบุคลากร ทำให้การจัดการกับขยะอาหารเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน โครงการ Zero Food Waste มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมุ่งเน้นการจัดการขยะอาหารอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เพียงแต่นำไปทิ้ง แต่ยังนำไปสร้างประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ที่ยั่งยืน หนึ่งในนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยกำลังผลักดันคือ การใช้ขยะอาหารในการเลี้ยงหนอนแมลง BSF เพื่อผลิตโปรตีนจากแมลง โดยโรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงโปรตีนนี้ มีการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเลี้ยงหนอน การแปรรูป ไปจนถึงการใช้โปรตีนแมลงเป็นอาหารสัตว์ มาตรฐานการผลิตที่ถูกต้องและเครื่องมือแปรรูปทันสมัยทำให้โรงเรือนนี้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบการกว่า 3,000 ราย ที่สนใจใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีนในการเลี้ยงสัตว์
การนำขยะอาหารมาใช้ในกระบวนการเลี้ยงหนอนแมลง นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นการนำขยะเหล่านี้มาสร้างมูลค่าในรูปแบบของโปรตีนที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมเกษตรได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายย่อยที่ 12.3: การลดของเสียอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนในทุกมิติ
\
ภาพเพิ่มเติม : https://kku.world/kyst4
ภาพ/ข่าว : ปนัดดา / https://kku.world/t7xqq
เรียบเรียง : มัลลิกา