วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมสำรวจแหล่งปลูกและการเก็บข้อมูลการปลูกและการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพร “โสมไทย” ณ ที่ทำการกองทุนหมู่บ้าน บ้านทรัพย์ไพศาล หมู่ที่ 17 ต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมี ผศ.ดร.จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนายสมยศ มีทา นักวิชาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แนะนำโครงการ อภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรโสมไทย ร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากมีการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์ ในครัวเรือนและแบ่งปันกันภายในหมู่บ้าน และมีเพียงบางส่วนที่นำ “โสมไทย” มาประกอบอาหารเพื่อรับประทาน
จากนั้นในช่วงบ่าย ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดกิจกรรมจัดทำแผนโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรอย่างยั่งยืน ณ พื้นที่แหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่สนองพระราชดำริ อพ.สธ. ต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมกับผู้นำชุมชน นายโดยมี นายบรรเทิง หินเทา รองนายก อบต.หนองหญ้าปล้อง, นายสุริยันต์ พันธ์งาม ปลัด อบต.หนองหญ้าปล้อง, หัวหน้าสำนักงานปลัด, ประธานสภา, ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ ผศ.ดร.จุฑาพร แสวงแก้ว ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ และความเป็นมาของการจัดกิจกรรม และมีคณะวิทยากร ผศ.ดร.สมพร เกษแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวถึงช่องทางการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ และแปรรูปเพื่อจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ ดร.เกษสุดา เดชพิมล หัวหน้าศูนย์รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และ นางสาววิลาวรรณ ดรวิชา นักวิชาการเกษตร ได้แนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับ มาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) ทำให้ผลผลิตการเกษตรมีมาตรฐาน ปลอดภัย เสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และเป็นที่ยอมรับของสังคม
นายสมยศ มีทา นักวิชาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำการปลูกโสมไทยโดยนำท่อนพันธุ์จากแปลงปลูกในพื้นที่แหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมฯ ไปปลูกและบันทึกผลการเจริญเติบโตของโสมไทยให้กับ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านนาดอกไม้, ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 บ้านโคกฝาย, ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 17 บ้านทรัพย์ไพศาล, อบต.หนองหญ้าปล้อง และชาวบ้านที่สนใจปลูกสมุนไพรโสมไทย ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน “กลุ่มผู้ปลูกและพัฒนาพืชโสมไทย” โดยมีนาง สุภี หมู่ที่ 8 บ้านนาดอกไม้ เป็นประธาน ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลผลการปลูกโสมไทยร่วมกันกับวิทยากรจะให้ความรู้การจัดการปลูกสมุนไพร และแนะนำรายละเอียดการจัดการคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกร หรือ GAP ในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป