วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนโครงการ BIOFIN ในการจัดกิจกรรม “การประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินความต้องการในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรพันธมิตร เพื่อประมวลข้อมูลที่ได้รับนำไปจัดทำหลักสูตรข้อมูลในการฝึกอบรม และประมวลผลเพื่อสร้างศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนงบประมาณท้องถิ่นแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด และสามารดึงศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้อำนวยการศูนย์แม่ข่าย อพ.สธ. - มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในการเปิดงาน
ศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์ประสานงานและศูนย์แม่ข่ายที่ดำเนินงานสนับสนุน ส่งเสริม และเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงาน อพ.สธ. ในการนี้ที่ทางโครงการ BIOFIN ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดทำข้อเสนอโครงการและการจัดทำแผนงบประมาณ มาร่วมแลกเปลี่ยน ให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมแก่ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถจัดทำข้อเสนอโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามเกณฑ์นั้น นับเป็นการดีที่จะช่วยให้การดำเนินงานมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป" จากนั้น คุณภัทรินทร์ ทองสิมา ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวส่วนหนึ่งในเนื้อหาว่า " สผ. เป็นหน่วยนโยบายและแผน เรามองว่าจะทำนโยบายและแผน โดยเฉพาะในแง่ของท้องถิ่นอย่างไรให้สอดคล้อง และตรงตามความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยรวบรวมความคิดเห็นว่ามีความต้องการอย่างไรเพื่อจะช่วยให้ อปท.สามารถจัดทำโครงการและได้รับงบประมาณมาดำเนินการในระดับท้องถิ่นได้ "
การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ศูนย์แม่ข่าย อพ.สธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรพันธมิตร รวมกว่า 50 ท่าน โดยกระบวนการจัดกิจกรรมเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยน ในหัวข้อความหลากหลายทางชีวภาพกับการพัฒนาเมืองเป็นจริงได้อย่างไร สถานการณ์และการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความต้องการในการฝึกอบรม ปรับใช้เอกสารที่ออกแบบสำหรับการสัมภาษณ์ และการสำรวจข้อมูลทางออนไลน์
ผลจากการจัดกิจกรรมวันนี้จะช่วยให้ ศูนย์แม่ข่าย อพ.สธ. อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และเกิดแนวทางการจัดทำงบประมาณท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่บูรณาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้เข้ากับแผนของ อปท. โดยโครงการ BIOFINจะเป็นหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือที่จะมาช่วยเชิงวิชาการให้ อปท. สามารถจัดทำงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายและแผนปฏิรูปประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
ภาพ/ข่าว : ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น