โรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกสูงมากที่สุดในประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้รับการบันทึกว่าเป็นแหล่งที่พบผู้ป่วยโรคของมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก และยิ่งน่าใจหายอย่างยิ่งที่สถิติเดียวกันยังระบุยอดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีสูงถึง กว่า 50 คนต่อวัน กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้น 14,000 รายและมีผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้น 6,000,000 คนทั่วประเทศซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในแหล่งระบาดของพยาธิใบไม้ตับที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดี โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program) จึงได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยการสนับสนุน ให้เป็นหนึ่งในโครงการเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 โดยมีกิจกรรมหลักคือ “วาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดีกับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีสัญจร” ทำการตรวจคัดกรองชาวอีสานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น โดยได้ความร่วมมือกับบุคลากรสาธารณสุขหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ศูนย์มะเร็งจังหวัดอุดรธานี ศูนย์มะเร็งจังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง และโรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการในพื้นที่ 29 จังหวัด จากการดำเนินงานมาอย่างยาวนานสามารถผลักดันให้การแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็น “วาระแห่งชาติ” ได้ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับแผน “ยุทธศาสตร์ทศวรรษการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ถูกยกระดับความสำคัญจากวาระอีสานเป็นงานระดับชาติและมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีงบประมาณให้สามารถทำงานได้ โดยที่มีเป้าหมายว่าจะต้องลดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขอีกต่อไป