โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวสำหรับการบริโภคและการส่งออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2566 รวมเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยได้นำข้าว กข6 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวยอดนิยมของผู้บริโภคทั่วไป ที่มีความหอมเหนียวและคุณภาพการกินสูง แต่มีความอ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และสภาพดินเค็มระดับสูง มาปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีมาตรฐาน (conventional breeding) ร่วมกับการใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก (marker-assisted selection: MAS) เพื่อนำยีนต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และรวบรวมยีนที่ทนทานสภาพดินเค็มเข้าสู่ข้าว กข6 จนกระทั่งได้พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองคือ ข้าวพันธุ์ มข60-1 และข้าวพันธุ์ มข60-2
ข้าวพันธุ์ มข60-1 เป็นข้าวเหนียว มีกลิ่นหอม นุ่ม ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง มีความสูงประมาณ 140-150 ซม. ซึ่งเตี้ยกว่าข้าวพันธุ์ กข6 เล็กน้อย จึงทนทานต่อการหักล้มในช่วงเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ข้าวพันธุ์ มข60-1 ยังไม่ไวต่อความยาวช่วงแสง โดยมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน สามารถปลูกเพื่อการบริโภคในฤดูนาปีและผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ในเขตชลประทานนอกฤดูนาปีเพื่อการจำหน่าย ซึ่งราคาของเมล็ดพันธุ์สูงกว่าราคาเมล็ดข้าวเพื่อการบริโภคราวสองเท่า
ข้าวพันธุ์ มข60-2 เป็นข้าวเหนียวนาปี มีกลิ่นหอม นุ่ม มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะทางการเกษตรเหมือนข้าว กข6 แต่มีความต้านทานโรคและทนทานต่อสภาพดินเค็ม และเป็นข้าวที่ไวต่อความยาวช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าข้าวพันธุ์ กข6 ประมาณ 1 สัปดาห์
โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองได้นำข้าวทั้งสองพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่ทำนาอินทรีย์ที่ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าข้าวทั้งสองพันธุ์สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เกษตรกรยอมรับพันธุ์ข้าว มข60-1 ที่สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้เร็วเนื่องจากไม่ไวแสง แม้จะเป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวเร็วกว่า กข6 และขาวดอกมะลิ 105 ที่เกษตรกรปลูกกันอยู่ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการทำลายของนก เพราะเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดอกเดียว ซึ่งเป็นข้าวที่อายุเก็บเกี่ยวสั้นอยู่แล้ว แต่พันธุ์ดอกเดียวนั้นมีผลผลิตต่ำ และคุณภาพการหุงต้มและการกินต่ำกว่า มข60-1 การเก็บเกี่ยวได้เร็วทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวใหม่ในราคาที่สูง ไม่มีปัญหาด้านการตลาด จึงทำให้ข้าวพันธุ์ มข60-1 ได้รับความสนใจจากเกษตรกร ผู้บริโภค และโรงสี
ข้าวพันธุ์ มข60-2 มีลักษณะคล้ายกับข้าว กข6 ดั้งเดิมมาก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์คล้าย แต่มีความต้านทานโรคไหม้และทนทานต่อดินเค็มที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงพันธุ์ นอกจากนี้ถึงแม้จะมีความสูงใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ กข6 แต่ได้รับยีนควบคุมความแข็งแรงของต้นจากสายพันธุ์พ่อ จึงทนทานต่อการหักล้มและได้รับการยอมรับจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก
เกษตรกรที่ทำนาด้วยระบบอินทรีย์ในพื้นที่ตำบลหนองห้าง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในชุมชน และในกระบวนการผลิตมีการใช้สารชีวภัณฑ์ร่วมด้วย การนำข้าวพันธุ์ มข60 ทั้งสองพันธุ์มาใช้จึงต้องมีการทดสอบว่าการปลูกข้าว มข60 ทั้งสองพันธุ์จะตอบสนองต่อการจัดการปุ๋ยแตกต่างจากข้าว กข6 เดิมที่เกษตรกรได้ปฏิบัติอยู่หรือไม่ ผลการศึกษานี้จะเป็นแนวทางในการปลูกข้าว มข60 ในพื้นที่เป้าหมายต่อไป อย่างไรก็ตามการปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตและคุณภาพดีต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพ โดยทั่วไปหน่วยงานของรัฐบาลสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีป้อนให้เกษตรกรได้ไม่เกิน 15% ของความต้องการของประเทศ ดังนั้นหากชุมชนใดสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไว้ใช้ในชุมชน ก็จะเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการลดรายจ่ายในการผลิต และพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ชุมชนดังกล่าวปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งในรูปเมล็ดพันธุ์และเมล็ดเพื่อการบริโภคและจำหน่าย หากข้าวพันธุ์ มข60-1 และ มข60-2 สามารถปลูกได้โดยให้ผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพดีเท่ากับหรือมากกว่าข้าว กข6 เดิม ข้าวพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะสามารถผลิตร่วมกับพันธุ์ กข6 เดิมได้ แม้ในกรณีที่มีโรคระบาดและในพื้นที่ดินเค็ม ข้าวก็จะยังรักษาเสถียรภาพผลผลิตได้ จึงเป็นการพัฒนาการใช้นวัตกรรมพันธุ์ข้าวเพื่อการบริโภคและการจำหน่ายทั้งในประเทศและการส่งออกอย่างยั่งยืน