เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงฯ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ และคณะลงพื้นที่ประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ คือ 1) มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก 3) มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3) มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economic Model โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับงบประมาณทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย และโครงการต่าง ๆ ของ อว. ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ (ซ้าย) และ ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขวา)
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะ เข้าร่วมประชุมรับมอบนโยบายจากรัฐมนตรี รวมทั้งนำผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดหอมระเหย AYA และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแสดงภายในงานนี้ด้วย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้ประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติว่า "โครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฎิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1) โครงการยุวชนอาสา:สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4-5 เดือน) และได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน 2) โครงการบัณฑิตอาสา:สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) ลงพื้นที่พักอาศัยและทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 12 เดือน และ3) โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ:สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสตาร์ทอัพ (Start-up)"
ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการสนับสนุนนักศึกษาผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรสหกิจศึกษาที่ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ได้ออกไปทำงานจริงในสถานประกอบการเพื่อพัฒนาการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะให้แต่ละหลักสูตรเข้ามาทำงานร่วมกันในการเข้าไปแก้ไขปัญหาชุมชนหรือสังคมด้วยนวัตกรรมภายใต้โครงการยุวชนอาสา นอกจากนี้บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ การให้โอกาสกับบัณฑิตที่กำลังจะจบในการรวมตัวกันจากหลากหลายสาขาในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย อีกทั้ง มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สถาบันแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) Innovation hub และศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญากลไกหลักที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ “ยกระดับเกษตรกรอำเภอกระบวนสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer)” โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเผยว่า “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สอว. เข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งผ่านฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กำกับดูแลการดำเนินงายของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน (Industrial Research and Technology Capacity Development Program หรือ IRTC) มีภารกิจที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับการผลิตและแปรรูป ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร สมาชิก 23 คนที่รักในวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักนม การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำผลผลิตมาใช้ในการปลูกผักเพื่อการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับบริโภคในชุมชนและส่งขายในพื้นที่เขตจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์และอุดรธานี จนเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่กำลังการผลิตของกลุ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอีกทั้งยังขาดบุคลากรหรือแรงงานภาคเกษตร เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ถือว่าเป็นเกษตรกรประณีตที่ต้องการการดูแลจากเกษตรกรอย่างมากเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง”
ภาพ/ข่าว : ณัฐกานต์ อดทน