ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลกระบือ เลื่องลือคุณค่ากระบือไทย Vermi Team มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่ ที่มีความเจริญหลั่งไหลเข้าสู่ตัวเมืองไม่แพ้เมืองใหญ่ในจังหวัดอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ในตำบลอื่น ๆ ของจังหวัดขอนแก่นก็ยังคงยึดโยงอยู่กับวิถีชุมชนเกษตรกรรม เช่น ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น บนพื้นที่ 73.40 ตารางกิโลเมตร ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะกระบือมากกว่า 2,000 ตัว ซึ่งทำให้เกิดมูลกระบือส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และส่งผลต่อการใช้พื้นที่ที่ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากปริมาณธาตุอาหารที่มีมากเกินไปจนเป็นพิษต่อพื้นที่นั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตามในอีกด้านมูลกระบือก็มีคุณสมบัติสำคัญคือ ปริมาณธาตุอาหาร รวมถึงจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นคนในชุมชุนจึงสามารถซื้อ-ขาย มูลกระบือ โดยมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางหรือผู้ที่สนใจรับซื้อในท้องถิ่นราคากระสอบละ 25-30 บาท (ต่อ 50 กิโลกรัม) เฉลี่ยมูลค่า 0.8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าต่ำ และเกินความต้องการของคนในชุมชนและท้องตลาด ดังนั้นคนในชุมชนจึงต้องการเพิ่มมูลค่าของมูลกระบือให้มีราคาสูงขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน

ดังนั้น Vermi Team มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนำประเด็นดังกล่าวข้างต้นมาพัฒนาหาแนวทางแก้ไข โดยนำนวัตกรรมที่ได้จากการศึกษาวิจัยของ รศ.ดร.ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย ศูนย์เรียนรู้วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดินเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ สามารถเปลี่ยนแปลงอินทรีย์วัตถุให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และภายในปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินยังมีปริมาณสารสำคัญที่ช่วยให้พืชหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เช่น สารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และสารป้องกันแมลงศัตรูพืชบางชนิด นอกจากนี้การเลี้ยงไส้เดือนดินยังทำได้ง่าย ลงทุนต่ำ มีประโยชน์สูง สามารถทำได้ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและในระบบฟาร์ม จึงเป็นที่สนใจของการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

Vermi Team จึงนำกระบวนการแปรรูปดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกับชุมชน โดยส่งเสริมให้แปรรูปมูลกระบือเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนดินที่สร้างมูลค่าและใช้ในระบบการเกษตรได้จริง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี อีกทั้งเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะมีราคาสูงถึง 35 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ Vermi Team มีระบบติดตามการเลี้ยงไส้เดือนดินและวิเคราะห์ธาตุอาหารในห้องปฏิบัติการเพื่อกำหนดมาตรฐานของปุ๋ยที่ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยมีศูนย์เรียนรู้วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดินเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ การเพิ่มมูลค่ามูลกระบือ และเป็นตลาดรับซื้อปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากเกษตรกรในชุมชุน นอกจากนี้ยังวางแผนด้านบรรจุภัณฑ์ วางกลยุทธ์ทางการตลาด ส่งเสริมการขายและใช้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินเพื่อผลิตพืชผักไร้สารเคมี เป็นมิตรต่อสุขภาพ ขยายการผลิตเพื่อส่งเสริมรายได้ในชุมชน เพิ่มศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

กระบือไทยจึงไม่ได้มีคุณประโยชน์แค่ทำนา แต่มูลกระบือยังเพิ่มมูลค่าให้กับผู้คนได้อีกด้วย ฉะนั้นควรเชิดชู และอนุรักษ์กระบือไทยไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รู้ว่ากระบือไทยมีคุณค่ากว่าที่คิด.

source : https://www.u2t.ac.th/event/detail/56