Net Zero Energy Building อาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานใช้พลังงานเป็นศูนย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาคารที่มีแนวคิดปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ซึ่งมาจากภายนอกอาคาร เมื่อหักลบกับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากอาคาร คิดคำนวณในแต่ละรอบปีต้องมีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งถือเป็นแนวทางการประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในอาคารได้สูงสุด โดยเบื้องต้นอาคารจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ประมาณ 28,000 หน่วย/ปี เฉลี่ย 80 หน่วย/วัน หรือมีการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าปริมาณการใช้งานประมาณ 8%

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ (กลาง) รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี (ขวา)

ทั้งนี้ อาคารต้นแบบฯ แห่งนี้ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ ๆ อาทิ ปรับปรุงหลังคาอาคารเพื่อป้องกันความร้อน และติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า ติดตั้งฟิล์มลดความร้อน ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ด้วยเครื่องปรับอากาศชนิดไฮบริดจ์ ที่มีหลักการทำความเย็นด้วยความร้อนจากรังสีของแสงอาทิตย์ (Solar Cooling) ร่วมกับการใช้พลังงานไฟฟ้า ติดตั้งอุปกรณ์นำแสงธรรมชาติ (Skylight) มาผ่านตัวกรองรังสี UV และตัวกรองความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคาร เป็นต้น ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างอาคารและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว อาคารมีการใช้พลังงานลดลงถึง 40% รวมทั้งพลังงานที่ใช้จริงประมาณ 60% ยังได้มาจากระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยอาคารของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้ ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้อาคารต้นแบบด้านการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจราชการในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดย ได้เข้าเยี่ยมชมอาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานใช้พลังงานเป็นศูนย์ เพื่อติดตามผลของโครงการ

รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มข. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รวบรวมนักวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายสาขาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงอาคารสำนักงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นอาคารสำนักงานต้นแบบที่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าสุทธิภายในอาคารเป็นศูนย์

อาคารดังกล่าวจะนำพลังงานจากภายนอกเข้าอาคาร ลบกับพลังงานที่ผลิตได้เองแล้วมีค่าเท่ากับศูนย์ สิ่งที่ช่วยให้แนวคิดดังกล่าวสำเร็จขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนแรกคือ เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานที่นำมาใช้ในอาคาร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง การออกแบบอาคาร และการจัดการพลังงาน เป็นต้น ส่วนที่สอง คือ เทคโนโลยีการผลิตพลังงานที่ใช้ในอาคาร อาทิ การผลิตไฟฟ้าหรือความร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ปรับปรุงอาคารเก่า ออกแบบอาคารให้ใช้พลังงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในอาคาร ในช่วงกลางวันที่สามารถผลิตพลังงานได้เกินความต้องการจะจ่ายพลังงานไปยังอาคารอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกัน ช่วงกลางคืน หรือไม่มีแสงอาทิตย์ ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานจากภายนอก แต่เมื่อใช้พลังงานภายนอกลบกับพลังงานที่ผลิตได้ในอาคารแล้วจะมีค่าเท่ากับศูนย์

อาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุนงบประมาณ 18 ล้านบาท เพื่อศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมสำหรับอาคารในประเทศไทย ถือเป็นอาคารแรกและอาคารเดียวในประเทศไทย ณ ขณะนี้ที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ และจะเป็นอาคารต้นแบบ ให้กับอาคารอื่นทั่วทั้งประเทศต่อการออกแบบก่อสร้างอาคารให้การใช้พลังงานเกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายความรู้ออกไปในวงกว้าง

source : https://www.greennetworkthailand.com/net-zero-energy-building